วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

ชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในสังคม


วิชาจิตตปัญญา:
ศาสตร์ในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในสังคม


ปีการศึกษา 2558 ภาคเรียนที่ 3 สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เริ่มเปิดสอนรายวิชาจิตตปัญญาเป็นวิชาเลือกเสรี เพื่อมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตพึงประสงค์ในสังคมไทยและสังคมโลก และดำเนินการเปิดสอนรายวิชานี้อย่างต่อเนื่องในปีการศึกษา 2559 ภาคเรียนที่ 1 ซึ่งในแต่ละภาคเรียนนั้นมีนักศึกษาสนใจลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนละ 100 คน สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ของนักศึกษาจากกระบวนการนี้ ได้รวบรวมจากนักศึกษาจำนวน 200 คนที่เรียนรายวิชานี้ในภาคเรียนที่ 3 ปีการศึกษา 2558  และภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้มาจาก6 สำนักวิชา ดังนี้ สำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมและทรัพยากร ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้มีพื้นฐานแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรและสำนักวิชา ภูมิลำเนา ศาสนา เป็นต้น จากสภาพความแตกต่างที่มาอยู่ร่วมกันนี้ทำให้ นักศึกษาเหล่านี้ต้องเผชิญกับสภาวะความเครียดและปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ปัญหาการปรับตัว ไม่ว่าจะเพื่อนที่อยู่ห้อง/หอเดียวกัน เพื่อนร่วมสำนักวิชา รวมถึงครอบครัว จึงการเก็บความคิด/ความรู้สึกไว้ภายใน การไม่ไว้วางใจผู้คนรอบข้าง การแข่งขันสูง เป็นต้น

เมื่อนำกระบวนการจิตตปัญญาเข้ามาใช้ในห้องเรียน โดยเน้นจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สุนทรียะสนทนา เป็นเครื่องมือให้นักศึกษาได้มีโอกาสพูดและฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง กระบวนการนี้ให้นักศึกษาจับคู่กับเพื่อนและสลับกันเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กให้กันและกัน และเพิ่มเป็น 4 คน จากนั้นให้แต่ละคนได้เล่าความประทับใจจากการฟังเรื่องราวของเพื่อนและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวัยเด็กของเพื่อน จากนั้นเปลี่ยนเป็นกลุ่มใหญ่เล่าเรื่องราวที่ตนเองอึดอัดขัดใจ หรือขัดแย้งไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน พบว่า นักศึกษาร้อยละ 80 จากจำนวนนักศึกษาที่ลงวิชานี้ทั้ง 2 ภาคเรียน 200 คน ได้สะท้อนความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวของเพื่อนที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวเองเท่านั้น ยังมีคนอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ นานาและแสนสาหัสมากว่าตนเอง ทำให้มองว่าปัญหาของตนเองเล็กนิดเดียว เมื่อเทียบกับปัญหาที่เพื่อน ๆ ได้เผชิญมาก นอกจากนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ มิตรภาพและพื้นที่ความปลอดภัยที่สามารถช่วยกันสร้างขึ้นมาได้  แต่สิ่งที่นักศึกษาแต่ละคนได้สะท้อนจากการเรียนรู้ชุมชนเล็ก ๆ ของพวกเขาก็คือ “การปลดปล่อยพันธนาการของตนเอง”  ความรู้สึกโล่งใจ โปร่งสบายและคลายเครียด พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ต่อไป ดังนั้นความพยายามแก้ปัญหาสังคมเชิงระบบจะไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้ หากปราศจากรากฐานที่สำคัญคือ ชีวิตที่ผ่อนคลายและชุมชนแห่งการเรียนรู้ อันเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีต่อการทำงานกับสังคม การแก้ปัญหาเชิงระบบภายใต้กระบวนทัศน์เก่า ส่งผลให้ชีวิตเกิดความตึงเครียด ทำลายความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สองส่วนนี้ย่อมขัดแย้งโดยตรงต่อแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้



คำสำคัญ (Keywords) จิตตปัญญาศึกษา ชุมชนแห่งการเรียนรู้ พื้นที่ความปลอดภัย


เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ การเรียนรู้เชิงรุก ครั้งที่ 5 (The 5th Active Learning National Conference 2017)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น